แผลกดทับกับการแพทย์แผนจีน
แผลกดทับ คือ การได้รับบาดเจ็บที่ผิวหนังหรือเนื้อเยื่ออันเกิดจากแรงกดทับที่ผิวหนังเป็นเวลานาน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเจ็บป่วยเป็นเวลานาน ทำให้ต้องนอนอยู่แต่บนเตียง ส่งผลให้การไหลเวียนของชี่ และเลือดติดขัด ไม่สามารถหล่อเลี้ยงผิวหนังได้ตามปกติ หรือเกิดจากการเสียดสีเป็นเวลานาน ผิวหนังได้รับความเสียหายมักเกิดกับบริเวณที่รับน้ำหนัก ได้แก่ กระเบนเหน็บ ข้อศอก ข้อเท้า กระดูกสันหลัง
อาการของแผลกดทับ
ระยะที่ 1 แผลกดทับระยะนี้จะไม่เปิดออก มีลักษณะอุ่น นุ่มหรือแข็ง ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บและระคายเคือง ผิวหนังบริเวณแผลจะไม่มีสี ผู้ที่มีผิวขาวอาจเกิดรอยแดง ส่วนผู้ที่มีผิวเข้มอาจเกิดสีเขียวอมม่วง เมื่อกดลงไปบนแผล แผลจะไม่กลายเป็นสีขาว
ระยะที่ 2 แผลกดทับระยะนี้เป็นแผลเปิดหรือมีแผลตุ่มน้ำพอง เนื่องจากหนังกำพร้าบางส่วนและหนังแท้ถูกทำลาย ส่งผลให้ผิวหนังหลุดลอก ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บที่แผลมากขึ้น
ระยะที่ 3 แผลจะมีลักษณะเป็นโพรงลึก ซึ่งอาจเห็นไขมันที่แผล เนื่องจากผิวหนังทั้งหมดหลุดออกไป รวมทั้งเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกลงไปในชั้นผิวหนังถูกทำลาย
ระยะที่ 4 แผลกดทับระยะนี้ถือว่าร้ายแรงที่สุด โดยผิวหนังทั้งหมดถูกทำลายอย่างรุนแรง รวมทั้งเนื้อเยื่อที่อยู่ล้อมรอบเริ่มตายหรือที่เรียกว่าเนื้อเยื่อตายเฉพาะส่วน (Tissue Necrosis) กล้ามเนื้อ และกระดูกที่อยู่ลึกลงไปอาจถูกทำลายด้วย
แผลกดทับในมุมมองแพทย์แผนจีน
ในทางการแพทย์แผนจีน แผลกดทับเกิดจากภาวะลมปราณชี่ และเลือดพร่อง หรือภาวะที่ลมปราณชี่ และเลือดไหลเวียนติดขัด บริเวณที่ถูกกดทับบ่อย ๆ จึงเกิดแผลกดทับ
การแยกกลุ่มอาการแผลกดทับในแพทย์แผนจีน แบ่งได้ 2 กลุ่มอาการคือ
ลมปราณชี่และเลือดพร่อง
อาการแสดง : บริเวณที่ถูกกดทับมีลักษณะรอยแดงบวมน้ำ ลักษณะสีแดงซีด มีขอบเขตชัดเจน รู้สึกชาหรือกดเจ็บ หากรักษาทันก็จะดีขึ้นภายในไม่กี่วัน สีลิ้นซีด มีฝ้าบาง ชีพจรเต้นเบาอ่อนแรง
ลมปราณชี่และเลือดติดขัด
อาการแสดง : บริเวณที่ถูกกดทับมีลักษณะรอยสีแดงคล้ำหรืออมม่วง มีขอบเขตชัดเจน รู้สึกเจ็บเหมือนเข็มแทง สีลิ้นแดงหรือมีจุดจ้ำเลือด มีฝ้าบาง ชีพจรตึง เล็ก ฝืด
แนวทางการรักษาแผลกดทับทางการแพทย์แผนจีน
หลักการสำคัญในการรักษาแผลกดทับ คือ การปรับสมดุลของร่างกาย ให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเกิดความสมดุล เพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นนั้น การใช้ยาสมุนไพรจีนในการปรับการทำงานของอวัยวะภายในให้แข็งแรง และการใช้ยาภายนอกเพื่อบรรเทา และรักษาให้หายดีนั้น ทางการแพทย์แผนจีนนิยมใช้ยาในกลุ่มที่มีฤทธิเย็น ในการรักษาโรคผิวหนัง
ตัวอย่างสมุนไพรที่ในการรักษาแผลกดทับ
ตี้ หยู (地榆) : เข้าเส้นลมปราณอวัยวะตับ ปอด ไต ลำไส้ใหญ่ มีรสขม เปรี้ยว ฤทธิ์หนาว
- สรรพคุณ : ช่วยให้เลือดเย็น ห้ามเลือด ขับพิษร้อน เสริมบำรุงอิน ขับฝีหนอง
- ใช้รักษาโรคทางผิวหนัง : ผื่น ผิวหนังเลือดออก ฝีหนอง ไฟน้ำร้อนลวก เป็นต้น
ตี้ หวง 地黄 เข้าเส้นลมปราณอวัยวะหัวใจ ตับ ไต มีรสหวาน ฤทธิ์เย็น
- สรรพคุณ : ขับร้อน ช่วยให้เลือดเย็น สร้างสารน้ำ
- ใช้รักษาแผลกดทับ ไม่ให้รู้สึกแสบร้อน และคัน
แผลกดทับหลีกเลี่ยงได้ถ้าดูแล
การลดน้ำหนักการกดทับที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งนาน ๆ โดยหมั่นพลิกตะแคง การรักษาความสะอาดของผู้ป่วย และการทานยาสมุนไพรจีน บำรุงร่างกาย และช่วยให้บาดแผลหายเร็วมากยิ่งขึ้น ทายาภายนอกที่มีส่วนผสมของสมุนไพรจีนเพื่อป้องกันการลุกลามของแผลกดทับ
บทความโดย : แพทย์จีน อิสราภรณ์ เอกผาติสวัสดิ์