แผลเบาหวานดูแลให้ดีก่อนโดนตัดเท้า

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ รวมถึงการอักเสบของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย ความน่าเป็นห่วงของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานนั้น ก็คือการมีบาดแผลติดเชื้อลุกลามได้ง่าย และหายยาก

รู้ทันแผลเบาหวาน

แผลเบาหวานเป็นบาดแผลเรื้อรังที่พบได้บ่อยที่สุด เนื่องจากเส้นเลือดที่ตีบ และแข็ง เกิดการอุดตัน ส่งผลให้แผลหายยากเพราะไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยงบริเวณนั้น ดังนั้นบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยเบาหวานมีแผล กว่าจะรู้ตัวแผลก็ลุกลามไปมากแล้ว หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมแผลเบาหวานส่วนใหญ่จึงเกิดที่เท้า เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานมีเส้นเลือดตีบ และอาการเสื่อมของระบบประสาทรับความรู้สึกส่วนปลาย ทำให้เกิดอาการชา เมื่อเป็นแผลที่เท้าในช่วงแรกมักไม่รู้สึก แต่จะรู้สึกเมื่อแผลรุนแรง ทำให้รักษายาก หายช้า และอาจร้ายแรงถึงขั้นตัดเท้า

มุมมองแพทย์แผนจีน

ในทางการแพทย์แผนจีน เกิดจากม้าม และไตพร่องเป็นหลัก มีความเย็น และความชื้นสะสมมากระทบ ทำให้ลมปราณชี่ และเลือดเกิดการติดขัด การไหลเวียนไม่สะดวกเป็นสาเหตุกลไกของการเกิดโรค ภายในร่างกายมีภาวะพร่อง แต่อาการที่แสดงออกมาเป็นภาวะแกร่ง เกิดความไม่สมดุลกัน ร่างกายจึงเกิดภาวะเจ็บป่วยได้

การแยกกลุ่มอาการแผลเบาหวานของแพทย์แผนจีน

แผลเบาหวานทางการแพทย์แผนจีนแบ่งกลุ่มอาการได้ 4 แบบ คือ

1. พิษร้อนชื้นสะสม

  • อาการแสดง : แผลที่เท้าบวมแดง มีอาการเน่าเปื่อยบริเวณแผล การลุกลามแพร่กระจายเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว มีหนองเยอะ และมีกลิ่นเหม็น
  • อาการแสดงร่วม : ขี้ร้อน กระหายน้ำมาก หงุดหงิดง่าย ท้องผูก มีอาการปวด บวมรุนแรง ลักษณะอาการบวมมีลักษณะเป็นสีขาวเทา คล้ายสีของเศษตะกอน ลิ้นเป็นสีแดง ฝ้าเหลืองหนา ชีพจรลื่นเร็ว

2. ลิ่มเลือดอุดตัน

  • อาการแสดง : เท้ามีอาการปวดบวม เข้านอนยาก ผิวหนังเย็น แห้งกร้าน แผลและผิวบริเวณโดยรอบเป็นสีคล้ำ
  • อาการแสดงร่วม : เดินลำบาก ผิวหนังและแผลบริเวณนั้นมีสีแดงเข้ม/ม่วงคล้ำ กล้ามเนื้อลีบ ลิ้นสีแดงเข้ม มีจุด ๆ บริเวณปลายลิ้น ฝ้าขาวบาง ชีพจรตึง

3. พิษร้อนสะสมทำลายอิน

  • อาการแสดง : ผิวแห้ง ขนร่วง กล้ามเนื้อลีบฝ่อ บริเวณแผลมีเลือดออกซึม ขอบแผลแห้ง ลักษณะสีดำไหม้ มีอาการปวดร่วมด้วย
  • อาการแสดงร่วม : เหนื่อย อ่อนเพลียง่าย กระหายน้ำ ชอบทานของเย็น ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน ร่วมกับบริเวณเท้ามีอาการบวมแดงเข้ม ลิ้นสีแดงเข้ม ฝ้าบาง ชีพจรตึง เส้นเล็กไม่มีแรง

4. ลมปราณเลือดพร่อง

  • อาการแสดง : ปวดเท้า กล้ามเนื้อลีบฝ่อ ผิวแห้ง มีอาการบวม และตายของแผลบริเวณนั้นเป็นระยะเวลานาน ลักษณะสีผิวแดงเข้ม หรือมีลักษณะซีดสีไม่สดใส เกิดหนองสีน้ำตาลอมแดง มีกลิ่นเหม็น หนองไหลตลอดเวลา
  • อาการแสดงร่วม : หน้าตาไม่สดใส ไม่อยากอาหาร ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ใจสั่นหายใจถี่หอบ เหงื่อออกง่าย ปัสสาวะสีซีด อุจจาระนิ่ม ลิ้นซีด ปลายลิ้นมีจุดแดง ด้านข้างลิ้นมีลักษณะเป็นรอยฟัน ฝ้าหนา ชีพจรจมเส้นเล็กไม่มีแรง
แนวทางการรักษาแผลเบาหวานทางการแพทย์แผนจีน

แนวทางการรักษาแผลเบาหวานทางการแพทย์แผนจีน

การรักษาแผลเบาหวานทางการแพทย์แผนจีนนั้น เน้นปรับการทำงานของอวัยวะภายในที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเบาหวานให้แข็งแรง และทำงานกันอย่างสมดุล เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ เพื่อที่จะส่งผลให้การควบคุมอาการลุกลามของแผลเบาหวานดีขึ้น โดยแผลเบาหวานเน้นการใช้ยาสมุนไพรจีนที่มีฤทธิ์เย็น สรรพคุณในการทำให้เลือดบริเวณแผลเย็นขึ้น ควบคุมการแพร่กระจายลุกลามของแผลบริเวณนั้นได้ เช่นแผลเรื้อรังจากเบาหวาน ใช้เป็นยาภายนอกได้อีกด้วย

ตัวอย่างยาสมุนไพรจีนที่นิยมนำมาใช้

ตี้ หยู () : เข้าเส้นลมปราณตับ ปอด ไต ลำไส้ใหญ่ มีรสขมเปรี้ยว ฤทธิ์เย็น

  • สรรพคุณ : ช่วยให้เลือดเย็น ห้ามเลือด ขับพิษร้อน เสริมบำรุงอิน ขับฝีหนอง
  • เพื่อรักษา : โรคเลือดออกต่าง ๆ อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด เลือดออกทางเดินอาหารส่วนต้น ตกขาว คันที่อวัยวะเพศหญิง ผื่นผิวหนัง ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก รวมถึงแผลที่เกิดจากเบาหวาน

หรูเซียง (乳香) : เข้าเส้นลมปราณ หัวใจ ตับ ม้าม รสเผ็ด ขม ฤทธิ์อุ่น

  • สรรพคุณ : ช่วยให้การไหลเวียนของชี่ และเลือดดีขึ้น ระงับอาการปวด ผิวหนังอักเสบติดเชื้อ และบาดเจ็บได้

ตี้หวง (地黄) เข้าเส้นลมปราณ หัวใจ ตับ ไต มีรสหวาน ฤทธิ์เย็น

  • สรรพคุณ : ช่วยขับร้อน ช่วยให้เลือดเย็น สร้างสารน้ำ ใช้รักษาฝ้า จุดด่างดำ อาเจียนเป็นเลือด เจ็บคอ คอบวม ผู้ป่วยเบาหวานที่รู้สึกร้อนภายใน
7 วิธีการป้องกันแผลเบาหวานที่เท้า
7 วิธีการป้องกันแผลเบาหวานที่เท้า

ดูแลรักษาสามารถควบคุมแผลเบาหวานได้

แผลเบาหวานที่เท้าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงของโรคเบาหวาน และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่สำคัญของความพิการและเสียชีวิตจากการติดเชื้อในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ยิ่งเป็นโรคเบาหวานมานานหลายปียิ่งเสี่ยงที่จะเกิดบาดแผล ทั้งนี้ปัจจัยในการเป็นแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวาน คือคนที่เป็นโรคเบาหวานเรื้อรัง และควบคุมระดับน้ำตาลไม่ค่อยได้ การสูบบุหรี่ อายุที่มากขึ้น ผู้ป่วยสามารถป้องกันได้โดยการตรวจ ดูแลรักษาแผลเบาหวานตั้งแต่ระยะแรก ป้องกันการเกิดบาดแผล หรือการลุกลามของแผลบริเวณนั้น ๆ ดังนั้นการป้องกัน เฝ้าระวัง และดูแลตั้งแต่ระยะแรกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพเท้าในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน

บทความโดย : แพทย์จีน อิสราภรณ์ เอกผาติสวัสดิ์

กลับไป
Facebook
LINE
อีเมล
Call
error: Content is protected !!