อาการนอนไม่หลับกับการแพทย์แผนจีน

นอนไม่หลับ หลับยาก หรือหลับ ๆ ตื่นๆ จนทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียระหว่างวัน ส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิต ซึ่งกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ของคนยุคนี้ ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากโรคประจำตัว โรคภูมิแพ้ ความดันโลหิตสูง หรือปัญหาทางด้านจิตใจ ความเครียด หรือพฤติกรรมของคนในปัจจุบันที่ทำให้เข้านอนดึก ไม่เป็นเวลาเป็นต้น

โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) คือ โรคที่มีความผิดปกติในวงจรการหลับ โดยสามารถแบ่งเป็นชนิดของการนอนไม่หลับเป็น 3 ชนิดที่พบบ่อย คือ

  • ชนิดที่ 1 หลับยาก : จะมีอาการหลับได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลาเป็นชั่วโมง
  • ชนิดที่ 2 หลับไม่ทน : มักตื่นกลางดึก เช่น หัวค่ำอาจพอหลับได้ แต่ไม่นานก็จะตื่น ในบางคนอาจตื่นแล้วกลับหลับอีกไม่ได้
  • ชนิดที่ 3 หลับ ๆ ตื่น ๆ : จะมีอาการลักษณะ รู้สึกคล้ายไม่ได้หลับเลยทั้งคืน เพียงแต่เคลิ้ม ๆ ไปเป็นพัก ๆ เท่านั้น

ซึ่งผู้เป็นโรคนอนไม่หลับอาจจะมีอาการเพียงข้อใดข้อหนึ่ง หรือมีหลายข้อรวมกันก็ได้ และแน่นอนเมื่อมีอาการนอนไม่หลับในช่วงตอนกลางคืนนั้นก็จะส่งผลกระทบในตอนกลางวันทำให้รู้สึกอ่อนแรง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไม่มีสมาธิ ง่วงซึม เป็นต้น

7 อาการนอนไม่หลับทางการแพทย์แผนจีน
7 อาการนอนไม่หลับทางการแพทย์แผนจีน

มุมมองการนอนไม่หลับทางการแพทย์แผนจีน

สาเหตุและกลไกการเกิดโรคนอนไม่หลับ มาจากการทำงานที่ผิดปกติของ หัวใจ ม้าม ไต อินพร่อง และการทำงานของหยางตับมากเกินไป โดยการรักษาอาการนอนไม่หลับ หมอจีนจะทำการวินิจฉัยโดยการวิเคราะห์ตามกลุ่มอาการ ดังนี้

1. ไฟหัวใจลุกโชน

  • อาการหลัก : หงุดหงิด นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ไม่สงบ
  • อาการร่วม : ปากแห้งลิ้นแห้ง ปัสสาวะน้อย สีเข้ม มีแผลในปากหรือลิ้น ปลายลิ้นแดง ฝ้าเหลืองบาง ชีพจรเร็วแรง หรือ ชีพจรเร็วละเอียด

2. เสมหะร้อนรบกวนภายใน

  • อาการหลัก : นอนไม่หลับ หงุดหงิด รำคาญใจ
  • อาการร่วม : หนักศีรษะ ตาลาย แน่นหน้าอก จุกลิ้นปี่ เสมหะคั่งค้าง คลื่นไส้ เรอบ่อย ลิ้นแดง ฝ้าลิ้นเหลืองเหนียว ชีพจรลื่น เร็ว

3.หัวใจและไตไม่ประสาน

  • อาการหลัก : ใจสั่นไม่สงบ หงุดหงิด นอนไม่หลับ
  • อาการร่วม : เวียนศีรษะ หูอื้อ ปวดเมื่อยเอว เข่าอ่อน ขี้ลืม น้ำกามเคลื่อน หน้าฝ่ามือ ฝ่าเท้าร้อน ร้อนเป็นเวลา เหงื่อออกขณะนอนหลับ ปากคอแห้ง สารจินน้อย ลิ้นแดงฝ้าน้อย ชีพจรละเอียด  เร็ว

4. หัวใจและม้ามพร่อง

  • อาการหลัก : เข้านอนลำบาก ฝันมาก ตื่นง่าย
  • อาการร่วม : ใจสั่น ขี้ลืม อ่อนเพลีย ทานน้อย มีอาการเวียนศีรษะตาลาย แขนขาไม่มีแรง ท้องอืด ถ่ายเหลว สีหน้าซีดไม่มีประกายร่วมด้วย ลิ้นซีด ฝ้าบาง ชีพจรเล็ก (ซี่) ไม่มีแรง

5. ชี่หัวใจและถุงน้ำดีพร่อง

  • อาการหลัก : นอนไม่หลับ ฝันมาก ตกใจตื่นง่าย ตื่นแล้วหลับต่อลำบาก
  • อาการร่วม : หวาดหวั่น ใจสั่น ตกใจง่าย ระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา หายใจสั้น เหงื่อออกง่าย อ่อนเพลีย ลิ้นซีด ชีพจรตึงละเอียด (เสียนซี่)
แนวทางการรักษาโรคนอนไม่หลับในทางการแพทย์แผนจีน

แนวทางการรักษาโรคนอนไม่หลับในทางการแพทย์แผนจีน

การรักษาโรคนอนไม่หลับทางการแพทย์แผนจีนนั้น เน้นปรับการทำงานของอวัยวะภายในที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับโรคนอนไม่หลับให้แข็งแรง และทำงานกันอย่างสมดุล เพื่อควบคุมภาวะจิตใจให้สงบ ทำให้นอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ สมุนไพรจีนที่นิยมนำมาใช้ เช่น

  • หยวน จื้อ 远志 : เข้าเส้นลมปราณอวัยวะ หัวใจ ไต ปอด มีรสขม เผ็ด ฤทธิ์อุ่นเล็กน้อย
  • สรรพคุณ : สงบประสาท ขับเสมหะ ลดบวม
  • ใช้ในการรักษา : อาการนอนไม่หลับ ใจสั่น ขี้หลงขี้ลืม ฝันเปียก
  • ซวน เจ่า เหริน 酸枣仁 : เข้าเส้นลมปราณอวัยวะ ตับ ถุงน้ำดี หัวใจ มีรสหวาน เปรี้ยว ฤทธิ์กลาง บำรุงหัวใจ ตับ
  • สรรพคุณ : สงบจิตใจ ก่อเกิดสารน้ำ
  • ใช้ในการรักษา : นอนไม่หลับ ใจสั่น ฝันเยอะเหงื่อออกมาก ปากคอแห้ง

นอนไม่หลับทางแพทย์แผนจีน เกิดจากความไม่สมดุลของการทำงานของอวัยวะภายใน ที่ทำงานมากเกินไป หรือทำงานน้อยเกินไปจนทำให้ร่างกายเกิดภาวะพร่อง การดูแลตนเองจึงเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการทานข้าวให้ตรงเวลา ออกกำลังกาย ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย และนอนหลับพักผ่อนให้ตรงเวลา เพื่อการนอนหลับที่ดีมีคุณภาพ

บทความโดย : แพทย์จีน อิสราภรณ์ เอกผาติสวัสดิ์

สินค้าของเรา

กลับไป
Facebook
LINE
อีเมล
Call
error: Content is protected !!