โรคเบาหวานกับแพทย์แผนจีน
โรคเบาหวาน เป็นโรคของระบบเมตะบอลิซึมที่มีระดับน้ำตาลสูงในเลือดเป็นสำคัญ ในทางคลินิกมักมีรูปแบบอาการ คือ ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย หิวบ่อย น้ำหนักตัวลด อาจพบว่าไม่มีเรี่ยวแรงร่างกายผ่ายผอม เมื่อมีอาการเรื้อรังจะพบโรคแทรกซ้อนมากมาย มักพบในผู้ป่วยที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป รูปร่างอ้วน พบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง อาการเกิดโรคมักค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยมักไม่ทันระวังตัว จนมาตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวานเสียแล้ว
แม้การแพทย์แผนจีนจะไม่มีโรคที่ชื่อว่า “เบาหวาน” แต่จากบันทึกในคัมภีร์แพทย์แผนจีน พบว่า อาการที่กล่าวข้างต้นนี้ตรงกับโรคทางแพทย์แผนจีนโบราณ ที่เรียกว่า “เซียวเข่อ (消渴)” โดยทั่วไปกลไกของโรคมีสาเหตุจากอินพร่องเป็นพื้นฐาน ความร้อน และความแห้งเป็นอาการที่แสดงออก โรคมีผลกระทบต่ออวัยวะปอด กระเพาะอาหาร และไต หลักการรักษามักจะเน้นที่ไตเป็นหลัก โดยการบำรุงอินไต ขจัดร้อน สร้างสารน้ำดับกระหาย สาเหตุของโรค เกิดจากพันธุกรรม อวัยวะตันทั้งห้าอ่อนแอ อินของไตพร่อง รับประทานอาหารหวาน และมันมากเกินไป อารมณ์ไม่สมดุล นั่งนาน เคลื่อนไหวน้อย ออกกำลังกายน้อย ทำงานตรากตรำหรือสุขสบายมากเกินไป เป็นต้น
โรคเบาหวานในมุมมองแพทย์แผนจีน
ในทางการแพทย์แผนจีน เกิดจากม้าม และไตพร่องเป็นหลัก มีความเย็น และความชื้นสะสมมากระทบ ทำให้ลมปราณชี่ และเลือดเกิดการติดขัด การไหลเวียนไม่สะดวกเป็นสาเหตุกลไกของการเกิดโรค ภายในร่างกายมีภาวะพร่อง แต่อาการที่แสดงออกมาเป็นภาวะแกร่ง เกิดความไม่สมดุลกัน ร่างกายจึงเกิดภาวะเจ็บป่วยได้
การแยกกลุ่มอาการเบาหวานของแพทย์แผนจีน
เบาหวานทางการแพทย์แผนจีนแบ่งกลุ่มอาการได้ 6 แบบ คือ
1. ปอดและกระเพาะอาหารร้อนชื้น
- อาการแสดง : กระหายน้ำบ่อย ดื่มน้ำมาก ทานบ่อย ปัสสาวะบ่อย ร่างกายไม่มีเรี่ยวแรง รูปร่างผอม ลิ้นแดงฝ้าบาง ชีพจรลื่นเต้นเร็ว
2. ลำไส้แห้งสารจินถูกทำลาย
- อาการแสดง : หิวบ่อย ทานเก่ง กระหายน้ำบ่อย ดื่มน้ำมาก ขับถ่ายลำบาก ท้องผูก ลิ้นแดงไม่ชุ่มชื้น ฝ้าเหลืองแห้ง ชีพจรแกร่งมีแรง
3. หยินของตับและไตพร่อง
- อาการแสดง : มึนศีรษะ หูมีเสียง ปวดเอว ฝันเยอะ ผิวหนังแห้งคัน ปัสสาวะบ่อย มีลักษณะเหมือนน้ำมัน ลิ้นแดง ฝ้าบาง ชีพจรเล็กเต้นเร็ว
4. ลมปราณม้ามและกระเพาะอาหารพร่อง
- อาการแสดง : กระหายน้ำมาก ดื่มน้ำเยอะ กินเก่ง ถ่ายเหลว เบื่ออาหาร ทานบ่อย แขนขาไม่มีแรง ลิ้นซีดฝ้าขาว ชีพจรเล็กไม่มีแรง
5. หยินหยางเสียสมดุล
- อาการแสดง : ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน ปากแห้ง ลิ้นแห้ง ปวดเอว ขี้หนาว อาการหนักเป็นถึงขั้นดื่มน้ำ 1 ครั้ง เข้าห้องน้ำ 1 ครั้ง ลิ้นซีด ฝ้าขาวแห้งไม่ชุ่มชื้น ชีพจรจมเล็ก ไม่มีแรง
6. ร้อนชื้นสะสม
- อาการแสดง : กินมาก หิวบ่อย กระหายน้ำมาก ท้องอืด ลิ้นแดง ฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรลอยแต่กดไม่มีแรง
แนวทางการรักษาเบาหวานในทางการแพทย์แผนจีน
การรักษาเบาหวานทางการแพทย์แผนจีนนั้น เน้นปรับการทำงานของอวัยวะภายในที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเบาหวานให้แข็งแรง และทำงานกันอย่างสมดุล เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ เพื่อที่จะส่งผลให้การควบคุมอาการของเบาหวานให้ดีขึ้น
ตัวอย่างสมุนไพรจีนที่นิยมนำมาใช้
การรักษาเบาหวานทางการแพทย์แผนจีนนั้น เน้นปรับการทำงานของอวัยวะภายในที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเบาหวานให้แข็งแรง และทำงานกันอย่างสมดุล เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ เป็นปกติ เพื่อที่จะส่งผลให้การควบคุมอาการของเบาหวานให้ดีขึ้น
- สูตี้หวง 熟地黄 เข้าเส้นลมปราณ หัวใจ ตับ ไต มีรสหวาน ฤทธิ์อุ่นเล็กน้อย
สรรพคุณ : บำรุงอิน เสริมบำรุงเลือด บำรุงธาตุน้ำ สารจำเป็น และไขกระดูก ใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยารักษาโรคเบาหวาน - ฝูหลิง 茯苓 เข้าเส้นลมปราณ หัวใจ ปอด ม้าม ไต รสจืดอมหวาน ฤทธิ์กลาง (สุขุม)
สรรพคุณ : ขับระบายน้ำ ขับสลายความชื้น บำรุงม้าม สงบจิตใจ รักษาอาการบวมน้ำ ปัสสาวะขัด เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ใจสั่น นอนไม่หลับ ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถพบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน
การรับมือกับโรคเบาหวานที่ดีที่สุดคือ การดูแลสุขภาพตนเองเป็นหลัก ออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้เป็นปกติ และทานสมุนไพรจีนเพื่อบำรุงร่างกายในการปรับสมดุลอวัยวะภายในให้กลับมาทำงานปกติ ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข
บทความโดย : แพทย์จีน อิสราภรณ์ เอกผาติสวัสดิ์