หูอื้อ หูตึง หูมีเสียง ประสาทหูเสื่อม กับศาสตร์การแพทย์แผนจีน

หูอื้อ หรือการเกิดเสียงใน พบได้ทั่วไปในคนปกติที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เช่น ขึ้นเครื่องบิน เป็นต้น หรือบางรายก็เกิดขึ้นจากความเจ็บป่วย ความผิดปกติที่ทำให้เกิดโรคภายในหูขึ้นมา หูอื้อสามารถเป็นได้ทั้งแบบสองข้าง หรือข้างเดียวก็ได้ บางรายได้ยินเป็นเสียงดังในหู เหมือนมีแมลงบินวนอยู่ได้ยินเป็นเสียงแหลม หรือตุบ ๆ เหมือนกับชีพจรกำลังเต้น

ลักษณะของหูอื้อหรือหูมีเสียง แบ่งตามลักษณะการได้ยินเสียง 3 แบบ

  1. หูอื้อแบบเสียงดังแหลม “วี๊ด” ภายในหู เหมือนกับมีแมลงอยู่ภายใน ทำให้การได้ยินลดลง มักทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหงุดหงิด นอนไม่หลับ จนทำให้นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ
  2. หูอื้อแบบได้ยินเสียง “ตุบ ๆ” หูอื้อที่เหมือนกับการได้ยินเสียงหัวใจหรือชีพจรเต้นภายในหู
  3. หูอื้อจนได้ยินเสียงภายในร่างกายชัดเจนมากขึ้น หูอื้อในลักษณะนี้ ให้สังเกตดูว่าเวลาพูดผู้ป่วยจะได้ยินเสียงของตัวเองดังกว่าปกติ ได้ยินชัดเจนเหมือนกับกำลังพูดกับตัวเอง พบมากในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ซึ่งจะทำให้ท่อระบายอากาศของหู (Eustachian tube) เกิดการบวมตัว ไม่สามารถถ่ายเทอากาศออกมาได้ ซึ่งอาการจะค่อย ๆ ทุเลาลงเมื่อภูมิแพ้ดีขึ้น

อาการหูตึง หูหนวก หูดับ หรือ การสูญเสียการได้ยิน คือ ภาวะที่ความสามารถในการได้ยิน/รับเสียงลดลง อาจเป็นเพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้ยินเลยก็ได้ (หูหนวกสนิท)

สาเหตุอาการหูตึง หูหนวก หูดับ หรือ การสูญเสียการได้ยิน

สาเหตุอาการหูตึง หูหนวก หูดับ หรือ การสูญเสียการได้ยิน โดยสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคมักเกิดจาก

  • ประสาทหูเสื่อมตามวัย
  • ความผิดปกติแต่กำเนิด
  • การได้ยินเสียงดังมากกว่าปกติเป็นเวลานาน
  • การได้รับบาดเจ็บบริเวณหู
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด (โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะแบบฉีด) เป็นต้น
หูอื้อ หูมีเสียง หูตึง หูดับ โรคประสาทหูเสื่อม วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ปวดศีรษะ เกิดจากอะไร ?

หูอื้อ หูมีเสียง หูตึง หูดับ โรคประสาทหูเสื่อม วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ปวดศีรษะ เกิดจากอะไร ?

“หูเป็นหน้าต่างของไต” คำกล่าวของศาสตร์การแพทย์จีนนั้น มองสภาวะที่ ไตอ่อนแอลงจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของหู จึงพบอาการหูอื้อ หรือหูตึงในผู้ที่อยู่ในวัยสูงวัยได้บ่อย ๆ

ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเห็นว่าโรคนี้มีสาเหตุมาจากหยินในไตพร่อง ไฟในตับมากเกินไป เป็นผลให้เกิดมีความร้อนลอยตัวขึ้นด้านบนไปกระทบศีรษะเข้าเส้นลมปราณที่ผ่านบริเวณหู ส่งผลให้เกิดอาการหูอื้อ หูมีเสียง หูตึง หูดับ โรคประสาทหูเสื่อม วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ปวดศีรษะ หน้าแดง ตาแดง ปากขม คอแห้ง กระสับกระส่าย หงุดหงิด ฝ่ามือร้อน เหงื่อออกตอนนอนหลับ เมื่อยและอ่อนแรงบริเวณเข่าและเอว ฯลฯ

โดย กลุ่มอาการแกร่ง จะมีอาการแสดง หูอื้อ หูตึงกะทันหัน เสียงดังตลอดเวลา เหมือนเสียงจักจันร้องหรือเสียงคลื่น แน่นในหู ปากแห้ง หงุดหงิด หน้าแดง โกรธง่าย มักมีอาการตาลาย เวียนศีรษะ อุจจาระแข็ง ปัสสาวะเหลืองเข้ม ลิ้นแดง ฝ้าเหลืองบาง ชีพจรตึงเต้นเร็วหรือชีพจรลื่นเต้นเร็ว และอีกหนึ่งกลุ่มอาการ คือ กลุ่มอาการพร่อง ซึ่งพบในบ่อยในผู้ป่วยวัยชราร่างกายอ่อนแอ หูอื้อเป็น ๆ หาย ๆ เสียงเบา และเสียงต่ำ การได้ยินค่อย ๆ ลดลง มักมีอาการเวียนศีรษะ ตาลาย ปวดเอว เข่าอ่อน ลิ้นซีด ชีพจรจมเล็ก

การวินิจฉัยแยกโรคตามกลุ่มอาการ แบ่งเป็น 5 กลุ่มอาการ

1. ลมภายนอกเข้ากระทำ

  • อาการแสดง : มักเริ่มจากการเป็นหวัดตามด้วยอาการหูอื้อ หูหนวกหรือรู้สึกแน่นตึงในหู ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ กลัวลม มีไข้ ปากแห้งลิ้นแดง ฝ้าขาวบางหรือเหลืองบาง ชีพจรเต้นแบบลอยเร็ว

2. ไฟตับและถุงน้ำดีที่มากเกินไป

  • อาการแสดง : เมื่อมีอาการโกรธจะทำให้อาการทางหูมากขึ้น อาจมีอาการปวดหนักในหู ร่วมกับปวดศีรษะ หน้าแดง ขมในปาก คอแห้ง หงุดหงิด โมโหง่าย ท้องผูก มีลิ้นแดง ฝ้าเหลือง ชีพจรตึงเต้นเร็ว

3. เสมหะและไฟ

  • อาการแสดง : มีเสียงความถี่สูงในหูคล้ายเสียงจักจั่น การได้ยินลดลง ร่วมกับวิงเวียนศีรษะ ตาลาย แน่นหน้าอก เสมหะมากมีลิ้นแดง ฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรตึงลื่น

4. ม้ามและกระเพาะอาหารพร่อง

  • อาการแสดง : อาการเสียงดังในหูเป็นพัก ๆ ดังบ้างค่อยบ้าง ทานอาหารได้น้อย ท้องอืดแน่น มักถ่ายเหลว อาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อตรากตรำ หากได้พักผ่อนอาการจะดีขึ้น สีลิ้นซีด ฝ้าบางขาวหรือเหนียวเล็กน้อย ชีพจรเส้นเล็กเต้นเบา

5. สารจำเป็นของไตพร่อง

  • อาการแสดง : การได้ยินลดลงเรื่อย ๆ จนไม่ได้ยิน อาการหูอื้อจะชัดเจนในเวลากลางคืน ร่วมกับนอนไม่หลับวิงเวียนศีรษะ ปวดเมื่อยเอว และเข่าอ่อนแรง ลิ้นสีแดง ฝ้าน้อยหรือไม่มีฝ้า ชีพจรเส้นเล็กตึง เส้นเล็กเต้นเบา
แนวทางการรักษาอาการหูอื้อ หูตึง หูมีเสียง ประสาทหูเสื่อมในทางการแพทย์แผนจีน

แนวทางการรักษาอาการหูอื้อ หูตึง หูมีเสียง ประสาทหูเสื่อมในทางการแพทย์แผนจีน

การรักษาหูอื้อ หูตึง หูมีเสียง ประสาทหูเสื่อมทางการแพทย์แผนจีนนั้น เน้นปรับการทำงานของอวัยวะภายในที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอวัยวะไตที่มีความสัมพันธ์กับอาการหูอื้อ หูตึง หรือประสาทหูเสื่อม ให้แข็งแรง และทำงานกันอย่างสมดุล เพื่อที่จะส่งผลให้การได้ยินของผู้ป่วยดีขึ้น และกลับมาทำงานปกติ สมุนไพรจีนที่นิยมนำมาใช้ เช่น

สู ตี้ หวง 熟地黄 : เข้าเส้นลมปราณ หัวใจ ตับ ไต มีรสหวาน ฤทธิ์อุ่นเล็กน้อย

  • สรรพคุณ : บำรุงไต บำรุงอิน เสริมบำรุงเลือด ใช้เป็นส่วนประกอบหลักในตำรับยาบำรุงไต
  • เพื่อรักษา : อาการหูอื้อ หูมีเสียง วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย

ซาน จู ยฺหวี 山茱萸 : เข้าเส้นลมปราณ ตับ และไต รสรสเปรี้ยว ฝาด ฤทธิ์อุ่นเล็กน้อย

  • สรรพคุณ : เสริมบำรุงอินตับ และไต
  • เพื่อรักษา : อาการวิงเวียนศีรษะ หูมีเสียง หูอื้อ หูตึง ประสาทหูเสื่อม อาการปวดเมื่อยอ่อนแรงบริเวณเอว และหัวเข่า ปัสสาวะบ่อยควบคุมไม่ได้ หลั่งอสุจิเร็ว

หากผู้ป่วยรู้สึกเหมือนมีเสียงวิ๊ด หรือมีเสียงแมลงหวี่บินอยู่ในหู หรือระดับการได้ยินลดลง โดยอาการจะเป็นแบบค่อยเป็น ค่อยไป หากปล่อยไว้นานอาจจะทำให้สูญเสียการได้ยินแบบถาวรหรือ โรคประสาทหูเสื่อม ซึ่งมักพบในผู้ป่วยสูงอายุที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของวัยตามอายุที่มากขึ้น หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อ ภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่าง ๆ หรือภาวะความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัย และรักษาได้ทันท่วงที การดูแลสุขภาพตนเองเป็นหลัก ออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทานสมุนไพรจีนเพื่อบำรุงร่างกายในการปรับอวัยวะภายในให้กลับมาทำงานกันอย่างสมดุล เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

บทความโดย : แพทย์จีน อิสราภรณ์ เอกผาติสวัสดิ์

สินค้าของเรา

กลับไป
Facebook
LINE
อีเมล
Call
error: Content is protected !!