เริมกับการรักษาแบบแพทย์แผนจีน

เริม คือโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่ชื่อ Herpes Simplex Virus (HSV) เชื้อไวรัสเริมมี 2 ชนิด คือ HSV-1 HSV-2 ซึ่งเชื้อไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้จะก่อให้เกิดอาการ เริมที่ปาก (Herpes Simplex) และเริมที่อวัยวะเพศ (Gential Herpes) สามารถติดต่อกันระหว่างคนสู่คนได้โดยผ่านทางการสัมผัสอย่างใกล้ชิด ทางน้ำลาย น้ำเหลือง หรือผ่านทางเพศสัมพันธ์ได้

โดยรวมแล้วอาการของเริมที่ปาก และเริมที่อวัยวะเพศนั้นค่อนข้างคล้ายกัน โดยจะมีตุ่มน้ำใสบริเวณที่ติดเชื้อ ได้แก่ ปาก อวัยวะเพศ ทวารหนัก บั้นท้าย หรือต้นขา มีอาการเจ็บปวด แสบที่บริเวณแผล หากเป็นการติดเชื้อครั้งแรกจะมีอาการค่อนข้างรุนแรง และหายช้า แต่ถ้าหากเป็นการติดเชื้อซ้ำ อาการจะไม่รุนแรง และหายได้เร็วกว่า

สาเหตุการเกิดโรคเริม

สาเหตุของการติดเชื้อนั้นเกิดจากการที่ผู้ป่วยไปสัมผัสเชื้อไวรัสตัวนี้โดยตรงผ่านทางการสัมผัสกับแผล และการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ หรือทางเพศสัมพันธ์ และกิจกรรมทางเพศที่ไม่มีการป้องกัน รวมถึงการใช้ของเล่นทางเพศร่วมกันก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้อีกด้วย

สาเหตุการเกิดโรคเริมทางการแพทย์แผนจีน

ทางการแพทย์แผนจีนมีมุมมองเกี่ยวกับโรคเริมว่าเกิดจากการที่อวัยวะภายในอ่อนแอ และถูกโจมตีด้วยลมร้อนจากภายนอก หรือเกิดจากการที่ปอด และกระเพาะอาหารร้อนมากเกินไป หรือเกิดจากการทำงานของม้ามกับกระเพาะอาหารทำงานไม่สัมพันธ์กัน รวมถึงผู้หญิงช่วงมีประจำเดือน หรือได้รับลมร้อนตอนตั้งครรภ์ ทั้งหมดล้วนเป็นสาเหตุการเกิดโรคเริมทั้งสิ้น การแยกกลุ่มอาการของแผลเริมแบ่งได้ 3 กลุ่มอาการ คือ

1. พิษลมร้อนชื้น

  • อาการแสดง : การเกิดโรคใช้ระยะเวลาสั้น ๆ ตุ่มน้ำเป็นผื่นกว้าง ลักษณะตุ่มน้ำแตกเป็นแผล มีอาการรู้สึกแสบร้อนบริเวณแผล
  • อาการร่วม : ขี้ร้อน ปากแห้ง ไอ ลิ้นแดง ฝ้าเหลืองบางเหนียว ชีพจรลื่น เต้นเร็ว

2. ลมปราณและอินพร่อง

  • อาการแสดง : การเกิดโรคใช้ระยะเวลานาน ลักษณะตุ่มน้ำมักเป็นๆ หายๆ ป่วยนานรักษายาก ลิ้นแดง ฝ้าบาง/ไม่มีฝ้า ชีพจรเส้นเล็ก เต้นเร็ว

3. ร้อนชื้นสะสม

  • อาการแสดง : พบตุ่มน้ำบริเวณอวัยวะเพศทั้งด้านหน้า และด้านหลัง ตุ่มน้ำมักแตก มีน้ำหนองไหลซึมออกมา
  • อาการร่วม : อ่อนเพลีย ขับถ่ายผิดปกติ ปัสสาวะสีเข้ม ลิ้นแดง ฝ้าเหนียว ชีพจรลื่นเต้นเร็ว
แนวทางการรักษาโรคเริมทางการแพทย์แผนจีน

แนวทางการรักษาโรคเริมทางการแพทย์แผนจีน

หลักการสำคัญในการรักษาแผลเริมนั้น คือ การปรับสมดุลของร่างกาย ให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเกิดความสมดุล เกิดภูมิคุ้มกันที่ดี แข็งแรงมากพอที่จะต่อสู้กับเจ้าเชื้อไวรัสนี้ได้ และป้องกันการกำเริบซ้ำของโรค หรือขยายใหญ่โตไปติดต่อคนรอบข้าง การใช้ยาสมุนไพรจีนในการปรับการทำงานของอวัยวะภายในให้แข็งแรง และการใช้ยาภายนอกเพื่อบรรเทา และรักษาให้หายดีนั้น ทางการแพทย์แผนจีนนิยมใช้ยาในกลุ่มที่มีฤทธิเย็น ในการรักษาโรคผิวหนัง

ตัวอย่างสมุนไพรที่ในการรักษาแผลเริม

มู่ เปย จือ (木鳖子) : เข้าเส้นลมปราณอวัยวะตับ ม้าม กระเพาะอาหาร มีรสขม หวานเล็กน้อย ฤทธิ์เย็น

  • สรรพคุณ : ลดบวม ขับฝีหนอง ใช้รักษาโรคทางผิวหนัง เช่น ฝี หนอง ไฟลามทุ่ง เริม เป็นต้น

หวงฉิน (黄芩) : เข้าเส้นลมปราณอวัยวะปอด ถุงน้ำดี ม้าม ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก มีรสขม ฤทธิ์เย็น

  • สรรพคุณ : ขับร้อน สลายชื้นระบายไฟ ขับพิษ ห้ามเลือด สงบครรภ์ ใช้รักษาหน้าแดง ปากแห้ง กระหายน้ำบ่อยหงุดหงิด กระสับกระส่ายแผลฝีหนอง คอบวมเจ็บคอ อาการเลือดออก เช่นอาเจียนเป็นเลือด เลือดกำเดาไหลถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะเป็นเลือด ภาวะเลือดตกในสตรี รวมถึงแผลเริมได้อีกด้วย

โรคเริมสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ แต่จะมีอาการน้อยกว่าเป็นครั้งแรก ขนาดตุ่มจะเล็กกว่า จำนวนเม็ดก็น้อยกว่า และไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เป็นไข้ ผู้ป่วยอาจมีอาการนำ เช่น คัน ปวดแสบร้อน บริเวณที่จะเป็น หลังจากนั้นก็จะเกิดตุ่มน้ำขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกับตำแหน่งเดิม

4 วิธีดูแลสุขภาพเมื่อเป็น “เริม”
4 วิธีดูแลสุขภาพเมื่อเป็น “เริม”

ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีวิธีการรักษาเริมให้หายขาด แต่เราก็สามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงการเป็นซ้ำของแผลเริมได้ ด้วยการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่ดี และมีประโยชน์ ดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์ หลีกเลี่ยงการติดเชื้อซ้ำจากผู้ที่ป่วย

บทความโดย : แพทย์จีน อิสราภรณ์ เอกผาติสวัสดิ์

กลับไป
Facebook
LINE
อีเมล
Call
error: Content is protected !!